ประสานงานดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้พบและหารือกับ ศ.น.สพ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.การุณ พงศ์ศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ในการขับเคลื่อนโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” หรือ “ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายสนอง ดลประสิทธิ์ และผู้เกี่ยวข้อง ณ ห้องรับรองบ่อพันขัน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด

ตามที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการจำนวนทั้งสิ้น 18 ตำบล อยู่ในพื้นที่ 7 อำเภอ ดังนี้

1) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ ต.เกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย/ต.โพธิ์ใส อ.ศรีสมเด็จ/ ต.นางงาม ต.ภูเงิน อ.เสลภูมิ

2) มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ได้แก่ ต.กำแพง ต.ดงครั่งน้อย ต.ดงครั่งใหญ่ ต.ทุ่งทอง อ.เกษตรวิสัย/ ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์/ต.พนมไพร อ.พนมไพร/ ต.เกาะแก้ว ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ

3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ไ้ด้แก่ ต.กูกาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย/ ต.คำพอุง อ.โพธิ์ชัย/ ต.ทุ่งกุลา ต.นาใหญ่ ต.หัวโทน ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ

โดยสถาบันอุดมศึกษาทั้งสามแห่งจะเริ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการได้แก่กิจกรรมการจ้างงานและกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่รับผิดชอบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และสิ้นสุดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการโครงการภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยจะมีการจ้างงานบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อลงไปดำเนินโครงการในพื้นที่ตำบลเป้าหมาย

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดกล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งนี้จังหวัดมุ่งเน้นถึงความยั่งยืน (Sustaineble) ของโครงการ โดยจังหวัดพร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยจะนำไปบรรจุเข้าในแผนพัฒนาของจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อขับเคลื่อนและขยายผลให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งหวังให้โครงการดังกล่าวเป็นฐานในการรวบรวมข้อมูลในระดับตำบล เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการ Smart Tambol และค้นหา potential ของตำบล โดยใช้ตำบลคำพอุง เป็น Model แก้จนแบบจีน โดยให้มหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนทางวิชาการในการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้าง Application ต่อไป

จากการประชุมในครั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้มอบหมายให้สำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ดได้ทำหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการและอำเภอเพื่อรับทราบและให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานในระดับอำเภอเพื่อสนับสนุนคู่ขนานกับการดำเนินโครงการของมหาวิทยาลัย พร้อมย้ำว่าส่วนราชการในพื้นที่จะต้องรู้ เข้าใจ และเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัย และที่สำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินโครงการจังหวัดจะได้ผลักดันโครงการดังกล่าว เข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป

วันที่ประกาศข่าว : 2021-02-19 15:46:17  ประกาศโดย : admin   ถูกเปิดอ่านแล้ว 308 ครั้ง